เมนูหลัก
หน้าหลัก
ข้อมูลการประกันคุณภาพ
ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร
ข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษา
ข้อมูลการพัฒนาบุคลากร
ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาการ
ข้อมูลครุภัณฑ์หน่วยงาน
ข้อมูลอาคารและสิ่งก่อสร้าง
ข้อมูลผลงานประเภทต่างๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน
ปฏิทินการแจ้งซ่อมครุภัณฑ์
ปฏิทินการขอใช้รถยนต์ราชการ
ปฏิทินการขอใช้ห้องประชุม
แผนภูมิแสดงข้อมูลงานวิจัย
แผนภูมิแสดงข้อมูลครุภัณฑ์
แผนภูมิแสดงแผนปฎิบัติการ
ดาว์โหลดเอกสารประเภทต่างๆ
สายตรงผู้อำนวยการ
   
เข้าระบบ
   
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม
 
counter
   
หน้าหลัก » รายละเอียด
 
‹ ย้อนกลับ
 
หน่วยงาน : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
ประเภทผลงาน : โครงการวิจัย
ชื่อผลงาน: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดสุพรรณบุรี
  เป็นผลงานที่อยู่ในแผนส่งเสริมการนำเสนอผลงานวิชาการของวิทยาลัย
  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานอื่นๆ ในการไปนำเสนอผลงานวิชาการ
ชื่อผู้ทำวิจัย สถานะการทำวิจัย สัดส่วน
ดร. ณัฏฐวรรณ  คำแสน หัวหน้าวิจัย
กลุ่มสาขาวิชาการ : การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น
    ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
   โรคเอดส์เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการแพร่ระบาดของโรคนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยเอดส์ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2542 ก็มีรายงานการพบผู้ป่วยจากทั่วทุกประเทศ และแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในทุกกลุ่มประชากรจนเป็นปัญหาทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคมของทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก สถานการณ์เอดส์ทั่วโลกล่าสุดอัตราการติดเชื้อ ในบางประเทศลดลง แต่คาดว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นในทุก ๆพื้นที่ทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกประมาณ 33.2 ล้านคน และเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 2.1 ล้านคน (WHO, 2009) ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการระบาดของโรคเอดส์อย่างรวดเร็ว จากรายงานสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2552 มีจำนวนผู้ป่วยเอดส์ทั้งสิ้น 345,196 ราย เสียชีวิตแล้วจำนวน 93,034 ราย (งานควบคุมโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข, 2552) จากสถิติดังกล่าว ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่วิกฤต เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินของโรคโดยไม่มีอาการนานหลายปีทำให้มีระยะการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานาน อีกทั้งมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อม เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยที่ไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้ให้หายได้
ในการช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น จากผลการศึกษาวิจัยหลายเรื่องพบว่า บุคคลสำคัญใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยในการประคับประคองให้ผ่านพ้นระยะต่างๆ ไปได้ด้วยดี ยุทธวิธีที่สำคัญคือ การเพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคม (Valente & Saunder, 1994, p. 19-29) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรณรงค์เพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน (กิตติพัฒน์ นนทปัทมดุลย์, 2538, หน้า 56) ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีในขณะที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้นั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจถึงปัญหาของผู้ติดเชื้อ รวมถึงแนวทางที่จะให้การช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถมีทักษะที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้
แรงสนับสนุนทางสังคมมีความสำคัญและมีผลดีโดยตรงต่อสุขภาพในการที่บุคคลรับรู้ว่ามีผู้ที่ยอมรับ ให้ความห่วงใย เอาใจใส่ เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ซึ่งความรู้สึกในด้านดีนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ กลไกภูมิคุ้มกันมีผลดีต่อสุขภาพ ตามแนวคิดของลาซารัสและโฟลคแมน (Lazarus & Folkman, 1984) ได้กำหนดให้แรงสนับสนุนทางสังคมเป็นแหล่งประโยชน์ของบุคคลที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งบุคคลจะพิจารณาเป็นทางเลือกในการเผชิญกับปัญหาหรือความเครียดซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยในการเผชิญปัญหา และองค์การอนามัยโลกได้ถือว่า การเพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคมเป็นวิธีหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพ (Stewart & Tilden, 1995, p. 536) โดยในการศึกษาครั้งนี้วัดแรงสนับสนุนทางสังคมที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับตามแนวคิดของแบรนด์และไวเนิร์ท (Brandt & Weinert, 1985 cited in Weinert, 1987) ที่ประกอบด้วยด้านความรักใคร่ผูกพัน ด้านความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ด้านการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น และด้านการได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ
การที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ท้อแท้ สิ้นหวังในเป้าหมายของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (มารยาท วงษาบุตร, 2539) ความผาสุกทางจิตวิญญาณเป็นความรู้สึกส่วนลึกภายในจิตใจของบุคคลที่แสดงภาวะสงบ เป็นสุข ยอมรับความเป็นจริง มีเป้าหมายในชีวิต ยอมรับ และพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ของตนเอง นอกจากนี้ ความผาสุกทางจิตวิญญาณยังเป็นมิติหนึ่งของคุณภาพชีวิต และเป็นการรับรู้ในระดับจิตสำนึกในการไตร่ตรองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองจนสามารถยกระดับจิตสำนึกให้ถึงระดับที่เห็นคุณค่าของชีวิต มีความสุขกับคุณค่าของชีวิตที่เป็นอยู่ (ประเวศ วะสี, 2543) ดังนั้นความผาสุกทางจิตวิญญาณจึงสามารถส่งเสริมพลังอำนาจในผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้มีความสามารถในการเผชิญปัญหา มีความหวัง และกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ที่ดีขึ้นได้ ความผาสุกทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ และความผาสุกทางจิตวิญญาณเป็นมิติหนึ่งทางสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต
ในประเทศไทยในปัจจุบัน การศึกษาความผาสุกทางจิตวิญญาณและปัจจัยที่มีผลต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวียังไม่มีการศึกษาวิจัยแพร่หลายนัก ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตามวันเวลาที่แพทย์นัดที่โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
     
    วัตถุประสงค์ของโครงการ
    1. เพื่อศึกษาระดับความผาสุกทางจิตวิญญาณและระดับแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดสุพรรณบุรี
2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล แรงสนับสนุนทางสังคม และความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดสุพรรณบุรี
3. เพื่อศึกษาปัจจัยพยากรณ์ความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดสุพรรณบุรี
    ขอบเขตของโครงการผลงาน
    การวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวี ชาวไทยที่มารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดที่คลินิกผู้ติดเชื้อเอชไอวีในโรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
    ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    การศึกษาครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ปรับปรุงการบริการทางการพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ให้มีความผาสุกทางจิตวิญญาณสูงขึ้น นอกจากนี้ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการพยาบาลด้านจิตวิญญาณแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ดีขึ้นได้
    บทคัดย่อ
    บทคัดย่อ
ในประเทศไทย การติดเชื้อเอชไอวีเป็นหนึ่งในภาวะที่ทำลายสุขภาพของบุคคลและมีผลกระทบที่รุนแรงหลายประการต่อความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์และทำนายภาวะความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรอบแนวคิดในการวิจัยครั้งนี้ประยุกต์มาจากแนวคิดความผาสุกทางจิตวิญญาณของ JAREL (Hungelmann, Kensel-Rossi, Klassen, & Stollenwerk, 1987) วัตถุประสงค์ของการวิจัยแบบภาคตัดขวางเชิงพรรณา (Cross-sectional descriptive correlational design) นี้เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล แรงสนับสนุนทางสังคม กับความผาสุกทางจิตวิญญาณโดยรวมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 120 คน นอกจากนี้ในการวิจัยนี้ยังศึกษาปัจจัยทำนายความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหล่านี้ด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นชุดแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา สถิติไคสแควร์ สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีนี้ แรงสนับสนุนทางสังคมโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ความผาสุกทางจิตวิญญาณโดยรวมอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังพบว่าสถานภาพสมรสและแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และนอกจากนี้ยังพบว่าสถานภาพสมรสและแรงสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันอธิบายค่าความแปรปรวนของความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ร้อยละ 32 จากผลการศึกษานี้สามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อการสร้างและพัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยในการส่งเสริมภาวะความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ นอกจากนี้การศึกษานี้ยังมีประโยชน์ต่อนโยบายสุขภาพ วิจัยทางการพยาบาล และการวิจัยในชุมชนด้วย

คำสำคัญ: ความผาสุกทางจิตวิญญาณ แรงสนับสนุนทางสังคม ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

Abstract

In Thailand, HIV disease is among the most devastating of illnesses, having multiple and profound effects upon all aspects of Thai people living with HIV/AIDS (Thai-PLWHA). Although a number of studies have suggested relationships among various psychosocial and spiritual factors, much more researches are needed to document their potential influences on spiritual well-being among Thai-PLWHA. The conceptual framework for the research was based on JAREL (Hungelmann, Kensel-Rossi, Klassen, & Stollenwerk, 1987). The aim of this cross-sectional correlational study was to determine the strength of associations among selected demographic variables, social support, and spiritual well-being among Thai-PLWHA (n=120) in Suphanburi province, Thailand. Also, the predictors of spiritual well-being among Thai-PLWHA were examined. The participants completed a set of questionnaires. The Pearson’s product moment correlation coefficient (r) was employed to examine the relationships among the selected variables and spiritual well-being. Standard multiple regressions was performed to estimate the magnitudes of the total effects of the selected variables on the outcome variable, spiritual well-being among Thai-PLWHA.
The findings revealed that, among Thai-PLWHA, the overall spiritual well-being was on a high level. Furthermore, the overall social support was on a low level. The significant correlations were identified among marital status, social support, on spiritual well-being among Thai-PLWHA. Thirty-two percent (Adj. R2= .32, p<.01) was the variance in spiritual well-being explained by marital status, and social support.
The findings of this study provide the backdrop for the implementation of nursing interventions that will be designed to help reshape spiritual well-being among Thai-PLWHA. Additionally, this study makes the contributions to health policy, nursing research, and community-based studies.

Keywords: people living with HIV/AIDS, social support, spiritual well-being
ดาว์โหลดไฟล์บทคัดย่อ :  ดาวน์โหลดไฟล์ 20130202115605.pdf
 
 
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติและนานาชาติ ปี พ.ศ คะแนน วันที่เผยแพร่ โหลด
 
  การเผยแพร่บทความวิชาการ ปี พ.ศ คะแนน วันที่เผยแพร่ โหลด
 
       บูรณาการกับโครงการบริการวิชาการ             ความร่วมมืองานวิจัยกับบุคคลภายนอก
ปีปฏิทิน : 2554
ปีการศึกษา : 2554
ปีงบประมาณ : 2554
วันที่เริ่ม : 14 ม.ค. 2554    วันที่แล้วเสร็จ : 21 ก.ย. 2554
แหล่งเงินทุน  
ภายใน จำนวนเงิน 32,025.00 บาท
ภายนอก จำนวนเงิน 0.00 บาท
รวมจำนวนเงินทุน 32,025.00 บาท
  ชื่อแฟ้มข้อมูล ขนาดแฟ้มข้อมูล จำนวนเข้าถึง วัน-เวลาเข้าถึงล่าสุด Download
ทั้งหมด 0 รายการ
 
Copyright©Prabormajchannok Instiute of Halth Workforce Development 2009  All rights reserved : Version 7.6