เมนูหลัก
หน้าหลัก
ข้อมูลการประกันคุณภาพ
ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร
ข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษา
ข้อมูลการพัฒนาบุคลากร
ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาการ
ข้อมูลครุภัณฑ์หน่วยงาน
ข้อมูลอาคารและสิ่งก่อสร้าง
ข้อมูลผลงานประเภทต่างๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน
ปฏิทินการแจ้งซ่อมครุภัณฑ์
ปฏิทินการขอใช้รถยนต์ราชการ
ปฏิทินการขอใช้ห้องประชุม
แผนภูมิแสดงข้อมูลงานวิจัย
แผนภูมิแสดงข้อมูลครุภัณฑ์
แผนภูมิแสดงแผนปฎิบัติการ
ดาว์โหลดเอกสารประเภทต่างๆ
สายตรงผู้อำนวยการ
   
เข้าระบบ
   
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม
 
counter
   
หน้าหลัก » รายละเอียด
 
‹ ย้อนกลับ
 
หน่วยงาน : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
ประเภทผลงาน : โครงการวิจัย
ชื่อผลงาน: ผลของโปรแรมการให้ความรุ้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองต่อความสามารถของอาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผุ้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน
  เป็นผลงานที่อยู่ในแผนส่งเสริมการนำเสนอผลงานวิชาการของวิทยาลัย
  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานอื่นๆ ในการไปนำเสนอผลงานวิชาการ
ชื่อผู้ทำวิจัย สถานะการทำวิจัย สัดส่วน
กลุ่มสาขาวิชาการ : พื้นฐานทางการพยาบาล และการพัฒนาวิชาชีพ
    ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
   ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาโรคหลอดเลือดสมองหรือที่คนส่วนใหญ่ เรียกว่า โรคอัมพาต (Stroke/cerebrovascular disease ) หมายถึงภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตันหรือแตก จนเกิดการทำลายหรือตายของเนื้อสมอง ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับการทำลายเนื้อสมอง (สำนักงานเผยแพร่และประชา สัมพันธ์ กรมควบคุมโรค,2552 ) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization ) ได้รายงานถึงสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองว่าปี 2548 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกแต่ละปี 5.7 ล้านคน และองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก( World Stroke Organization ) คาดการณ์ว่า ในปี 2558 จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มเป็น 6.5 ล้านคน ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตาย อันดับ 2 ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 5 ในประชาชนที่มีอายุ 15-59 ปี (World Stroke Day,2554) และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย(Why Act NOW,2554 ) ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2547 พบว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวง สาธารณสุขในปี พ.ศ.2546 ถึง พ.ศ. 2548 พบว่าประชาชนไทยมีอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเท่ากับ 29.06, 31.09 และ 29.2 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2548-2551 มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคนี้ชะลอตัวลง (สถิติสาธารณสุข ปี 2541-51 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2551) สำหรับในปี 2552 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 13,353 คน เฉลี่ยวันละ 36 คน หรือประมาณ 3 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง (สถิติสาธารณสุข ปี 2552 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2552) และในปัจจุบันมีผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ประมาณ 751,350 คน และในปี พ.ศ. 2542 – 2552 พบผู้ป่วยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 2.45 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยในต่อแสนประชากรด้วยโรคหลอดเลือดสมองแต่ละภาคของประเทศไทยเรียงจากมากเป็นน้อย พบดังนี้ภาคกลาง(ไม่รวมกรุงเทพ)และภาคเหนือ พบสูงใกล้เคียงกัน ตามด้วยภาคใต้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบน้อยที่สุด(สถิติสาธารณสุข ปี 2541-51 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2551) จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิต และระดับความรุนแรงจากโรคหลอดเลือดสมองค่อนข้างคงที่ อันเป็นผลเนื่องมาจากวิวัฒนาการในด้านการรักษาที่ทันสมัยในปัจจุบันในระยะเฉียบพลัน ทำให้อัตราตายลดลงแต่พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีความพิการเพิ่มขึ้น มีเพียงร้อยละ 10 ที่หายเป็นปกติ ร้อยละ 40 มีความพิการหลงเหลือเล็กน้อย ร้อยละ 40 มีความพิการมากต้องมีผู้ดูแลต่อที่บ้าน ส่วนอีกร้อยละ 10 มีความพิการมากที่สุดต้องรักษาในโรงพยาบาลเพราะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต ความพิการที่พบได้แก่ อัมพาตครึ่งซีก เคลื่อนไหวลำบาก สูญเสียการทรงตัว กลืนอาหารลำบาก พูดไม่ชัด มีความบกพร่องทางความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจอารมณ์ไม่ปกติ สูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ และเมื่อเจ็บป่วยนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น แผลกดทับ การยึดติดของข้อต่างๆ กล้ามเนื้อลีบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จนถึงต้องกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง (นิพนธ์ พวงวรินทร์ & อดุลย์ วิริยเวชกุล,2544) นอกจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว หากผู้ป่วยและญาติไม่มีความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง และไม่ได้รับการดูแลเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะ secondary stroke ทำให้เสียชีวิตหรือมีความพิการรุนแรงมากขึ้น (สถาบันประสาท,2550) และจากสภาวะปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด ประกอบกับโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดรัฐบาล มีนโยบายการเพิ่มอัตราการหมุนเวียนเตียงรับผู้ป่วย จึงทำให้แนวโน้มการพักรักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีระยะเวลาสั้นลง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะช่วงระยะวิกฤตเท่านั้น เมื่ออาการผ่านพ้นเข้าสู่ระยะฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยจะได้รับการจำหน่ายเพื่อดูแลต่อเนื่องที่บ้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางการดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ มีความพิการหลงเหลือน้อยที่สุดและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ต้องให้การรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราการตาย และความพิการที่รุนแรงอย่างถาวร รวมทั้งการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อลดความพิการ และให้ผู้ป่วยสามารถช่วยตนเองได้มากที่สุด สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น พึ่งพาตนเองให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คุณภาพชีวิตเป็นการรับรู้ความผาสุกด้านร่างกาย การรับรู้ความผาสุกด้านจิตใจ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความรู้สึกเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง การตอบสนองต่อการวินิจฉัยหรือรักษา และความรู้สึกต่อสังคมรอบตัวผู้ป่วย โดยวัดจากความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย ทัศนคติของตนเองต่อสุขภาพ ความพึงพอใจในชีวิตและความรู้สึกว่าตนเองได้รับการช่วยเหลือจากสังคม (Padilla& Grant, 1985) ซึ่งพาดิลล่าและแกรนท์ (Padilla & Grant, 1985) ได้ให้แนวคิดว่าคุณภาพชีวิตประกอบด้วย 6 ด้านได้แก่ ความผาสุกทางร่างกาย ความผาสุกทางด้านจิตใจ ความคำนึงเกี่ยวกับภาพลักษณ์ ความคิดคำนึงเกี่ยวกับสังคม การตอบสนองต่อการวินิจฉัยและการรักษา และภาวะโภชนาการ ซึ่งสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานการณ์ของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีข้อจำกัดในการดูแลตนเอง และการประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงอยู่ในสภาวะของการรับรู้ความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพที่ตนเป็นอยู่ ส่งผลให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลงได้ ดังนั้นการให้ความรู้เพื่อให้มีการฝึกการฟื้นฟูสภาพอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะของกิจกรรมต่างๆในการดำรงชีวิตประจำวัน จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตามเป้าประสงค์ที่เราคาดหวังเอาไว้ จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าขาดผู้ดูแล (Caregiver) ที่มีศักยภาพ เนื่องจากผู้ที่คอยอยู่ดูแลผู้ป่วยเกือบตลอดเวลาหรือในบางคนอาจต้องดูแลตลอด 24 ชั่วโมงนั้นไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่หากเป็นคนในครอบครัว ญาติผู้ป่วย ลูกหลาน เพื่อนหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย หลังจากผู้ป่วยจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน หลายคนจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสภาพ ญาติผู้ดูแลจึงเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในการดูแล แต่ในบางครั้งก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะจำเป็นต้องทำงานหรือบางครั้งทำไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน ฟื้นตัวช้าหรือกลับเป็นซ้ำ ถึงแม้ทางโรงพยาบาลจะจัดเจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้าน แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือหรืออาจช่วยเหลือได้ไม่ทันท่วงที จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จึงเป็นบุคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐแล้ว บางทีเป็นญาติ เพื่อนหรือลูกหลานของผู้ป่วยหรือผู้ดูแล ซึ่งกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยมีความยุ่งยากและซับซ้อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเสริมความรู้ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความรู้และทักษะ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหมายถึงบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในแต่ละกลุ่มบ้าน และได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีบทบาทในการเป็นผู้นำการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agents) พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนและมีหน้าที่แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้ 1) เป็นผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในหมู่บ้าน นัดหมายเพื่อนบ้านมารับบริการสาธารณสุข แจ้งข่าวสารสาธารณสุข 2) เป็นผู้ให้คำแนะนำถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนบ้านและแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ในเรื่องต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข การจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ในชุมชน และการส่งเสริมการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทย 3) เป็นผู้ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 4)หมุนเวียนกันปฏิบัติงานที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 5)เฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้าน เช่น เฝ้าระวังปัญหาโภชนาการโดยการชั่งน้ำหนักเด็กและร่วมแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารและขาดธาตุไอโอดีน เฝ้าระวังด้านอนามัยแม่และเด็ก 6) เป็นผู้นำในการบริหารจัดการวางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยใช้งบประมาณหมวดอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข 7)เป็นแกนนำในการชักชวนเพื่อนบ้านเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนางานสาธารณสุขของชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้กระบวนการ จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐาน) 8) ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขของประชาชนในหมู่บ้าน โดยเป็นแกนนำในการประสานงานกับกลุ่มผู้นำชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบล กระตุ้นให้มีการวางแผนและดำเนินงาน เพื่อพัฒนางานสาธารณสุขของหมู่บ้าน(กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ,2554) จากบทบาทดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน จึงมีความจำเป็นที่จะได้รับการเสริมอาวุธทางปัญญา เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทบทวนวรรณกรรม ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในโรงพยาบาลและศึกษาในผู้ดูแลที่โรงพยาบาลหรือดูแลที่บ้าน แต่ไม่มีใครศึกษาในอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เช่น จารึก ธานีรัตน์ ( 2545 ) ศึกษาผลของการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าคะแนนความสามารถของผู้ดูแลภายหลังการวาง แผนจำหน่ายสูงกว่าก่อนได้รับการวางแผนจำหน่าย หรือจากการศึกษาของวีณา ลิ้มสกุล (2545) ศึกษาผลของโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวต่อการปรับตัวของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าการปรับตัวของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 จากการศึกษาของ ปิ่นนเรศ กาศอุดม (2549) ศึกษาคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่มีผู้สูงอายุป่วยเรื้อรัง แนะนำว่าการเสริมสร้างบทบาทของครอบครัว จะต้องให้ความรู้เรื่องโรค การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับสุขภาพอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การศึกษาของนิภาภัทร ภัทรพงศ์บัณฑิตและคณะ(2550) ศึกษาผลของการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ต่อความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าคะแนนความสามารถในการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มทดลอง ที่ได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการสอนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 จากการศึกษาของ บรรณฑวรรณ หิรัญเคราะห์และคณะ (2550) ศึกษาผลของการฟื้นฟูสภาพที่บ้านต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มทดลอง ที่ได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 และจากการศึกษาของภรภัทร อิ่มโอฐ (2551) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลที่บ้านของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำว่าพยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพ ควรให้ความสำคัญในการประเมิน ศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านของญาติผู้ดูแล และปัจจัยที่มีผลต่อการให้การดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะปัจจัยการสนับสนุนทางสังคม ระดับความรุนแรงความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ระยะเวลาการดูแลต่อวัน ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย ควรพัฒนาโปรแกรมการเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และมีการสร้างมาตรฐานการดูแลที่บ้านโดยเน้นการดูแลกิจวัตรประจำวัน การป้องกันอุบัติเหตุภาวะแทรกซ้อนและจิตสังคม เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องดูแลต่อที่บ้าน จากสถิติข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าในปี 2552 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องดูแลที่บ้านจำนวน 3,355 คน ปี 2553 จำนวน 4,507 คน และ ปี 2554 จำนวน 3,965 คน (สถิติงานนโยบายและแผนสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี,2554) ในปัจจุบันผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านจะอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งบุคลากรในโรงพยาบาลมีจำนวนน้อย ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จึงจำเป็นที่จะต้องให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแล ซึ่งในปี 2554 จังหวัดสุพรรณบุรี มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทั้งสิ้นจำนวน 14,910 คนดังนั้นคณะผู้วิจัย จึงได้จัดสร้างโปรแกรมการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองขึ้น เพื่อพัฒนาความ สามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยหวังว่าโปรแกรมที่สร้างขึ้นจะทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
     
    วัตถุประสงค์ของโครงการ
    เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองต่อความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน
    ขอบเขตของโครงการผลงาน
    ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการดูแลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบลโพธิ์พระยา ตำบลสนามชัย ตำบลพิหารแดงและตำบลบ้านโพธิ์ ตำบลไผ่ขวาง ตำบลสระแก้ว ตำบลตลิ่งชัน และตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 30คน
    ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    1.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านได้2.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
    บทคัดย่อ
   

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองต่อความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านใน การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน โดยประชากรที่ศึกษา เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 14,910 คน ผู้ป่วย/ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 3,965 คน  กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย 1)อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 30 คน ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Random Sampling)  2) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการดูแลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบล จำนวน 30 คน และ 3) ผู้ดูแลหลัก  จำนวน 30 คน  แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างละ 15 คนตามผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1.แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้ป่วยและผู้ดูแล 2.แบบทดสอบความรู้โรคหลอดเลือดสมอง 3.แบบประเมินทักษะของอาสา สมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4.แบบประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 5.แบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  6.แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของอาสา สมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้ป่วย/ผู้ดูแล ส่วนที่ 2.เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองได้แก่ โปรแกรมการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าไควสแควร์ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติที ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ประมวลคำสำคัญ และเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลมาระบุหัวข้อเรื่องและทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จนสมบูรณ์

ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้โรคหลอดเลือดสมองและทักษะในการดูแลของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หลังสูงกว่าก่อนการให้โปรแกรมการให้ความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 และค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่ได้รับการดูแลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่ผ่านโปรแกรมการให้ความรู้สูงกว่าที่ไม่ผ่านโปรแกรมการให้ความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 และ.05 ตามลำดับ และจากการสัมภาษณ์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ได้รับโปรแกรมการให้ความรู้ และผู้ป่วย/ผู้ดูแลทุกคน มีความพึงพอใจในการดูแลที่ได้รับจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่ได้รับโปรแกรมการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป อาจทำแบบทดลองสี่กลุ่มเหมือนโซโลมอน

คำสำคัญ

โปรแกรมการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง / ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน

 


พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

พยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการ

 
 
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติและนานาชาติ ปี พ.ศ คะแนน วันที่เผยแพร่ โหลด
 
  การเผยแพร่บทความวิชาการ ปี พ.ศ คะแนน วันที่เผยแพร่ โหลด
 
       บูรณาการกับโครงการบริการวิชาการ             ความร่วมมืองานวิจัยกับบุคคลภายนอก
ปีปฏิทิน : 2555
ปีการศึกษา : 2555
ปีงบประมาณ : 2555
วันที่เริ่ม : 1 เม.ย. 2555    วันที่แล้วเสร็จ : 30 ก.ย. 2556
แหล่งเงินทุน  
ภายใน จำนวนเงิน 54,200.00 บาท
ภายนอก จำนวนเงิน 0.00 บาท 2555
รวมจำนวนเงินทุน 54,200.00 บาท
  ชื่อแฟ้มข้อมูล ขนาดแฟ้มข้อมูล จำนวนเข้าถึง วัน-เวลาเข้าถึงล่าสุด Download
ทั้งหมด 0 รายการ
 
Copyright©Prabormajchannok Instiute of Halth Workforce Development 2009  All rights reserved : Version 7.6